Confession (2010) ซึ่งมีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า “Kokuhaku” หรือในฉบับนิยายแปลไทยว่า “คำสารภาพ” เป็นหนังแดนอาทิตย์อุทัยเรตแรงจากปี 2553 ตัวหนังมีความยาวที่ 1 ชม. 46 นาที กำกับโดยผู้กับมือฉมังอย่าง Tetsuya Nakashima จากบทประพันธ์ดั้งเดิมของนักเขียน bestseller อย่าง Kanae Minato หนังยังเต็มไปด้วยดาราเจ้าบทบาททั้งรุ่นใหญ่และเล็ก
นี่คือหนังทริลเลอร์ที่เปิดตัวด้วยฉากโฮมรูมวันสุดท้ายประจำภาคเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมแห่งหนึ่ง คุณครูสาวประจำชั้นเรียนนำนมกล่องซึ่งเป็นอาหารเสิรมพื้นฐานของโรงเรียนให้แก่นักเรียนดื่มเหมือนปกติ จนกระทั่งครูสาวเริ่มเล่าว่า…ลูกสาวของเธอถูก “ทำให้เสียชีวิต” ด้วยน้ำมือของนักเรียนในห้องนี้ แต่เนื่องจากเป็นเยาวชนที่ซึ่งกฎหมายของญี่ปุ่นไม่สามารถเอาโทษได้ เธอจึงตัดสินใจแก้แค้ด้วยตัวเอง… โดยการนำเชื้อเอดส์ หรือ HIV ผสมลงไปในนมกล่องที่นักเรียนกำลังกิน และนี่คือฉากโหมโรงของ “คำสารภาพ” สุดจิต!
Confession “คำสารภาพ” หรือในชื่อดั้งเดิมคือ Kokuhaku
ภาพยนตร์แนวไซโคทริลเลอร์ จากนิยายขายดีเบสท์เซลเลอร์ “คำสารภาพ” ของ “คานาเอะ มินาโตะ” นักเขียนญี่ปุ่นชื่อดัง
ผู้กำกับ: เท็ตสึยะ นากาชิมะ เรื่องโดย: Kanae Minato
Spoiled Alert! [สปอยล์..เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของภาพยนตร์]
เรื่องราวในหนังบอกเล่าถึง “คำสารภาพ” ของตัวละครสำคัญทั้ง 4 คน คือ ครูสาวประจำชั้น “โมริกุจิ ยูโกะ”,นักเรียน “A” ,นักเรียน “B” ผู้ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของลูกสาวครู และนักเรียนหญิง “มิซูกิ คิตาฮาระ” นักเรียนอีกคนในห้องเรียนของครูสาวซึ่งจะมีบทบาทสำคัญภายหลัง โดยแบ่งเป็นบทๆตามมุมมองของทั้ง 4 คนที่มีต่อเหตุการณ์สำคัญในเรื่องคือ การเสียชีวิตของลูกเล็กครูโรงเรียนมัธยมซึ่งถูกทำให้จมน้ำในสระว่ายน้ำของโรงเรียน ซึ่งแม้ว่าครูจะรู้ตัวการว่าใครเป็นคนทำ แต่เนื่องด้วยรู้ว่ากฎหมายไม่สามารถเอาผิดหรือลงโทษได้ไม่แรงพอ จึงตัดสินใจที่จะไม่รื้อฟื้นคดี แต่เลือกที่จะสร้าง “บทเรียน” อันโหดเหี้ยมให้แก่ลูกศิษย์ในวัยที่กำลังอยากรู้อยากลองที่จะทำเรื่องผิดๆทั้ง 2 ของเธอ หนังมีฉากโหดที่อาจไม่ได้หวาดเสียวเหมือนหนังสยองขวัญมากอะไร แต่จะเต็มไปด้วยบรรยากาศที่อึมครึม เรื่องราวการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยงต่อจริยธรรมอันดีงาม ฉากที่ชวนหดหู่ทั้งกับผู้กะทำและถูกกระทำต่างๆนาๆ ซึ่งในบางครั้งคนดูก็อาจจะสะใจกับการกระทำบางอย่างที่ “รู้ว่าผิด….แต่สมควรแล้ว!” กับบทสรุปการห้ำหั่นแก้แค้นของลูกศิษย์กับครูสาวที่อายุห่างคราวแม่กับลูก ที่มาพร้อมจุดหักมุมชวนเหวอว่าเล่นแบบนี้เลยหรือ? นี่คือสิ่งที่คุณจะได้รับชมจากหนังเรื่องนี้
นี่คือภาพยนตร์เจ้าของตำแหน่ง “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จากเวที Japan Academy Prize ในปี 2010 ถือเป็นภหนัง triller/drama ที่เล่นกับประเด็นอันอ่อนไหว และตีแผ่ด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ ความแค้นของผู้สูญเสียบางอย่างที่สำคัญยิ่งในชีวิตไปได้อย่างเข้าถึงแบบไร้ที่ติ ตัวหนังดีงามและสมบูรณ์แบบทั้งในด้านบท, การถ่ายทำ, ประเด็นแฝง และกาแสดงอันทรงพลัง การตัดต่อและลำดับเรื่องราวก็ทำได้ดีจนเรียกว่าสะกดคนดูได้ตั้งแต่ฉากแรกยันฉากสุดท้าย ด้วยฉากเปิดเรื่องที่รุนแรง การนำฉากหลังที่ดูธรรมดาอย่างครูกำลังพูดกับนักเรียนในชั่วโมงโฮมรูม แต่โดดเด่นด้วยบทสนทนาที่แยบคาย และการสร้างบรรยากาศที่เย็นเยียบ จนไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมีความพิศดารอะไรรอเราอยู่ แม้ว่าจะเป็นฉากคุยอยู่ฝ่ายเดียวของครูสาวยาวเกือบครึ่งชั่วโมง แต่หากได้ดูแล้วจะรู้สึกได้เลยว่ามันทรงพลัง และจะติดอยู่ในความทรงจำไปอีกนาน
อย่างที่กล่าวไปแล้ว หนังมีการดำเนินเรื่องด้วยการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครหลัก 4 คนหลังฉากเปิดสุดอลังการ โดยหนังจะพาเข้าไปค้นซอกลึกของความคิด ปมในจิตใจ สาเหตุการกระทำของตัวละครแบบมุมมองบุคคลที่ 1 ซึ้งจะทำให้เราได้ค่อยๆซึมซับในแต่ละตัวละคร แล้วตัดสินใจเอาว่า…สิ่งที่พวกเขาได้เจอและนำไปสู่การกระทำที่จะกระทบต่อเนื่องเป็นฟันเฟือง รวมทั้งผลลัพธ์ของมัน “สมควร” แล้วหรือไม่? เรียกได้ว่าแต่ละคนก็มีปัญหามีปมในใจกันมาก่อน ซึ่งตรงนี้จะเสียดสีถึงสังคมได้อย่างเจ็บแสบ ว่าบางทีเรื่องเล็กๆมันก็นำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่ามากได้ หากคนที่เกี่ยวข้องละเลยเพิกเฉย ซึ่งตอนจบก็ขยี้ตรงนี้อย่างชัดเจนว่า… “ใครกัน ที่เป็นตัวการสำคัญของปัญหาที่แท้จริง”
ในเรื่องมีหลายประเด็นให้ผู้ชมได้ขบคิด และตั้งคำถามถึงสังคมปัจจุบัน เป็นต้นว่าตัวละครเอกครูประจำชั้นอย่าง “ยูโกะ” ที่รู้สึกว่ากฎหมายเยาวชนนั้นเบามากเกินไป จนบางทีก็อาจจะไม่สามารถมีประสิทธิ์ภาพพอ หากเกิดอะไรที่ร้ายแรง การกระทำของเธอชวนให้ตระหนักอยู่ตลอดว่า…สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังนั้นไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด มันสามารถเกิดขึ้นได้จริงในสังคม ความยุติธรรมเพื่อใครบางคนมันอาจไม่ยุติธรรมสำหรับอีกคน นอกจากนี้ยังชวนลุ้นอยู่ตลอดอีกด้วยว่าเรื่องที่เธอวางแผน อย่างการใส่โลหิตของผู้ป่วย HIV ลงไปในนมกล่องนั้นเป็นเรื่องจริง หรือแค่บลัพกัน? ซึ่งอย่างที่รู้ๆกันว่าการจะติดเชื้อผ่านทางเดินอาหารนั้นยากมาก แต่อย่างไรก็ตาม กับคู่ต่อกรที่ไม่ประสาในชีวิตมามากพอ นี่จึงเป็นสงครามจิตวิทยาที่ออกแบบมาเพื่อ “ยืมมือ” กลไกทางสภาพจิตใจและการแสดงออกของคนในสังคมรอบตัว ให้ทำหน้าที่ในการกำหนดชีวิตของพวกเขาได้อย่างอำมหิต ลองคิดดูสิว่าหากคุณได้รู้ความจริงว่าพึ่งกินอะไรมา และมีโอากาสเป็นอะไร จะรู้สึกยังไง? จะไปโรงเรียนเหมือนทุกวันได้เหมือนเดิมมั้ย? แล้วเพื่อนๆในชั้นจะมีปฏิกิริยาต่อเราอย่างไร? แค่จินตนาการถึงผลลัพธ์ก็ชวนให้มวนท้องแล้ว
ตัวหนังมีการใช้สัญลักษณ์และนัยยะแฝงให้ตีความ อย่างเช่นในฉากที่ “นักเรียน A และ B” มาพบกันและตกลงร่วมมือที่จะทำสิ่งที่ร้ายกาจอันไม่อาจให้อภัยได้นั้น มีการใช้ภาพที่สะท้อนจากกระนูน ทำให้ภาพที่ออกมานั้นบิดเบี้ยว อันแสดงถึงตรรกะความคิดของตัวละครในฉากดังกล่าวนั้นเองก็ได้ผิดเพี้ยนไป ไม่สามารถเอาพื้นฐานความคิดของคนทั่วไปมาตัดสินได้
หรือในฉากวัยเด็กของ “นักเรียน A” ที่เผยให้เห็นชีวิตในตอนนั้นว่าถูกแม่ทิ้งไปในขณะที่ตัวเองนั่งอยู่ท่ามกลางกองหนังสือวิชาการด้านไฟฟ้า เนื่องจากแม่ของ A เคยเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยซึ่งต้องจำใจลาออกมาเลี้ยงลูก และต้องการผลักดันให้ลูกเป็นเหมือนตัวเอง เพื่อเติมเต็มอัตตาของตัวเอง ที่ซึ่งไม่อาจกลับไปทำในสิ่งที่ต้องการได้แล้ว แต่ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจที่จะออกไปทำเพื่อตัวเองอยู่ดี ฉากนี้ก็มีการใช้ภาพจากกระจกนูน เพื่อสะท้อนถึงสภาพความบิดเบี้ยวจิตใจของ A ที่ไม่อาจเข้าใจในสิ่งที่แม่กระทำ และเป็นที่มาของความคิดฝังหัว่า…เพราะตนเองทำให้แม่ผิดหวัง แม่จึงได้หนีไป ซึ่งเป็นปมสำคัญของ A ที่ทำให้การกระทำในภายหลังนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม
สำหรับปมในจิตใจของตัวนักเรียน A หนังจะค่อยๆเล่าลำดับเหตุการณ์ไปว่าทำไม A ถึงได้ตัดสินใจได้ผิดแผกพิศดารไปจากคนปกติเช่นนี้ โดยจุดเริ่มต้นมาจากการถูกแม่ทิ้ง ซึ่งแทนที่เมื่อ A โตแล้วจะออกไปพบ ไปเจอแม่แบบที่คนปกติจะเลือกทำ แต่เพราะปมที่เคยฝังใจว่าแม่ไม่รักเพราะตัวเองไม่เก่ง ไม่ดีพอ ทำให้ A เลือกที่จะทำตัวเองให้โดดเด่นด้วยการชนะการประกวดรางวัลสิ่งประดิษฐ์ไฟฟ้าระดับมัธยม เพื่อที่จะให้สปอร์ตไลท์ส่องมาที่ตนเอง แล้วเมื่อแม่เห็นจะต้องภูมิใจแล้วกลับมาหา แต่เหมือนชะตาเล่นตลก ในวันเดียวกันนั้นมีคดีอุกฉกรรจ์เกิดขึ้น และยึดหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ผู้คนต่างพูดถึงเกี่ยวกับคดีนั้น ส่วนภาพการรับรางวัลของเขากลับได้ลงเพียงคอลัมน์เล็กๆ นั่นทำให้ A ผิดหวังและคิดไปถึงขั้นที่ว่า…ในเมื่อทำเรื่องดีๆไม่มีใครมองเห็น แต่เรื่องเลวร้ายกลับเป็นที่สนใจมากมาย บางทีสิ่งที่ตนควรทำคือการทำสิ่งที่เลวร้ายที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ราวกับคนหลงทางที่ไม่มีป้ายชี้ทางที่ถูกที่ควร A ปฏิเสธที่จะทำในสิ่งที่เรียบง่ายอย่างการไปพบแม่อีกครั้ง ซึ่งความจริงคือ A ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง A ยังคงกลัวว่าตัวเองอาจผิดหวัง หากว่าแม่ของเขาไม่ยอมกลับมาหาหรือแม้แต่กระทั่งลืมไปแล้วว่า
อีกจุดหนึ่งที่หนังพยายามสื่อว่า A เป็นประเภทที่ว่ายึดติดกับอดีต ไม่ยอมที่จะก้าวไปข้างหน้า คือนาฬิกานับถอยหลัง สิ่งประดิษฐ์พิศดารของเขา ซึ่งนาฬิกาตัวนี้ก็ยังปรากฎในฉากซ้ำคัญท้ายเรื่อง เพื่อตอกย้ำผลเสียของการยึดติดกับเวลาที่ผ่านไปแล้ว ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องทุกอย่างแย่ลง และนำมาซึ่งจุดจบที่ไม่อาจย้อนไปแก้ไขได้อีก
สำหรับตัวละครของ “นักเรียน B” B เป็นประเภทที่เรียกกันว่าถูกเพิกเฉยจากคนรอบข้าง ไม่เป็นที่รู้จักหรือได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆนัก มีความไม่มั่นใจ ซ้ำยังมักถูกแกล้งอยู่เป็นประจำ โดยที่จำยอมรับชะตากรรมโดยที่คิดว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จนกระทั่งการเข้ามาของ A…. แม้แผนการจะฟังดูชอบกล แผนซึ่ง A ชักชวนนั้น มันกลับเป็นเหมือหลักฐานว่าเขามีตัวตน อย่างน้อยก็มีคนมองเห็นเขาแล้ว อีกทั้ง A ก็เป็นนักเรียนที่โดดเด่น โดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูก A หลอกใช้ทำในเรื่องที่ไม่ได้มีเป้าหมายตรงกัน นั่นทำให้ B กลายเป็นลูกไล่ที่พร้อมจะเห็นดีเห็นวามตามไปก้วยในทุกเรื่อง แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่เข้าท่าก็ตาม จนกระทั่งเมื่อรู้ว่า A ต้องการใช้ตนเองเพื่อผลประโยชน์ มิตรภาพที่เขาหวังเป็นเรื่องโกหก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจกระทำบางอย่างที่เลวร้ายยิ่งกว่าที่เริ่มต้นกันไว้ นัยนึงก็อาจจะเพื่อก้าวข้าม A โดยไม่รู้เลยว่าผลจากการกระทำเพียงชั่ววูบจะส่งผลให้ชีวิตของ B เปลี่ยนไปตลอดการ
หลังจากที่ทุกอย่างมาถึงจุดเปลี่ยน ครูสาวประจำชั้นแก้แค้นโดยการบีบให้ A และ B ตกในสถานการณ์ไม่คาดฝัน หลังจากที่ได้ดื่มนมซึ่งมีเชื้อโดยไม่รู้ตัว การแสดงออกของทั้งคู่แตกต่างกันออกไป B คลุ้มคลั่งไปเลย รับไม่ได้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง หลังจากโฮมรูมวันสุดท้ายของภาคเรียนนั้น และเป็นวันสุดท้ายที่ครูประจำชั้นยังเป็นครูที่โรงเรียนนั้น B ก็ไม่ได้มาโรงเรียนอีกเลย โดยหมกตัวอยู่แต่ในห้องไม่ออกจากบ้าน ใช้เวลาในการจมปลักอยู่คนเดียว โดยที่มีแม่คอยประคบประหงมด้วยความท้อแท้ ในขณะที่ A กระทำตรงกันข้าม จริงอยู่ที่ทีแรกเขาตกใจกลัวจนเตลิดวิ่งออกจากห้องไป แต่หนังก็เผยให้เห็นว่านั่นเป็นการแสดง A ยิ้มย่องอย่างพอใจในการกระทำของครูสาวราวกับคิดเอาไว้แล้วว่าจะเป็นแบบนี้ A เริ่มคิดว่าหากเรื่องนี้รู้ถึงหูแม่ ว่าตนได้รับเชื้อมา แม่จะต้องเห็นใจและกลับมาหาตัวเองเป็นแน่
แม้จะเป็น “คำสารภาพ” แต่ในนั้นก็มีคำลวง คำโกหกเพื่อหวังผลประโยชน์ที่แอบแฝงอยู่ในคำพูดที่ดูจริงใจ อย่างเช่นเรื่องการสารภาพของครูสาวในฉากแรกว่าได้ผสมเชื้อลงไปในนม ดูเหมือนว่าเพื่อหวังจะให้ลูกศิษย์ทั้ง 2 คนทุกข์ทรมานจากโรคภัย แต่ในความเป็นจริงกลับหวังผลตรงกันข้าม เมื่อนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้แค้นอันแยบยล นอกจากนี้ในตอนเริ่มต้นแต่ละบทของทั้ง 4 ตัวละครหลัก จะมีฉากดำและตัวหนังสือบอกว่าเป็นคำสารภาพของใคร แล้วเริ่มเล่าเนื้อหาจากมุมมองของคนนั้นๆ ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับครูสาว คำสารภาพของแต่ละคนก็เต็มไปด้วยความมืดมิดในจิตใจที่จะค่อยๆเผยให้เห็นออกมา ซึ่งแต่ละเรื่องราวล้วนเชื่อมโยงกันไปเป็นภาพใหญ่ แต่ละคนล้วนมีแผลในจิตใจ แต่ละคนล้วนมีด้านมืด การโกหก หลอกลวง หาประโยชน์จากอีกฝ่าย โดยเฉพาะคำสารภาพของตัวละคร ที่ถูกนำมาหาประโยชน์หรือหลอกให้คายความลับ คล้ายกับจะบอกว่าไม่ว่าจะผู้กระทำหรือถูกกระทำ ก็พร้อมที่จะเสแสร้งและหาประโยชน์เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเองได้อย่างเย็นชา
อีกเรื่องนึงคือการที่หนังเรื่องนี้ใช้ท้องฟ้า เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสภาพจิตใจและความคิดของตัวละคร โดยจะมีฉากที่ตัวละครอยู่กับแบ็กกราวน์ที่เป็นฟ้าหมองหม่นอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งฉากฝนฟ้ากระหน่ำ เม็ดฝนแตกกระเซ็นแบบสโลว์โมชั่น เพื่อแสดงถึงภาวะทางจิตใจที่สั่นคลอนและพร้อมจะคลั่งราวพายุฝนฟ้ากระหน่ำ มีเพียงฉากเดียวที่ปรากฎว่ามีแสงรอดออกมาจากฟ้าเบื้องบนให้เห็นคือฉากช่วงจบของเรื่องเท่านั้น
สำหรับไคลแมกซ์ฉากจบของเรื่องนั้นก็ต้องบอกว่าแม้จะมีความเกินจริง เซอร์เรียลไปบ้าง แต่ก็นับได้ว่าเป็นบทสรุปของการแก้แค้นเฉือนคมที่มีพลังและงดงาม 20 นาทีสุดท้ายของเรื่องที่คำสารภาพทุกอย่างได้เผยออกมาทั้งหมดนั้นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สาสมชนิดที่ไม่มีทางลืม
โดยรวมแล้ว “Confessions” เป็นภาพยนตร์ที่แฝงข้อคิด และเผยด้านมืดในใจ ที่แนะให้หามารับชมเป็นอย่างยิ่ง
สปอยหนังผีน่ากลัว หนังสยอขวัญ เรื่องอื่นๆ >> คลิก
กลับสู่หน้าแรก สยองสแควร์